สถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย
(+66 2) 234-98-24
(+66 2) 268-11-69
/

ความร่วมมือในการศึกษา

ปฏิสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการศึกษาตั้งอยู่บนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในขอบเขตของการศึกษา ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2547 ซึ่งในความตกลงนั้นมุ่งไปที่การแลกเปลี่ยนนักเรียนและครู การตระหนักร่วมกันเรื่องหนังสือรับรองการศึกษา และการเยือนของคณะผู้แทนที่เป็นทางการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ปรารถนาจะศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นด้วยทุนส่วนตัวหรือด้วยโครงการทุนการศึกษาของรัฐบาลรัสเซียผ่านกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย โดยสาขาวิชาหลักๆ ที่นักศึกษาไทยมีแนวโน้มจะเลือกเรียน ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรมรัสเซีย ครุศาสตร์ แพทยศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกิจการต่างประเทศ ในปี 2561 สถานเอกอัครราชทูตได้คัดเลือกผู้สมัครชิงทุนชาวไทยจำนวน 38 คนไปศึกษาที่รัสเซีย

ทั้งสถาบัน (มหาวิทยาลัย) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐมอสโคว์แห่งกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย (MGIMO) มหาวิทยาลัยมิตรภาพประชาชนรัสเซีย ( มหาวิทยาลัย RUDN) สถาบันเอเชียและแอฟริกา ณ โลโมโนซอฟ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโคว์ มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐตะวันออกไกล (DVFU) และมหาวิทยาลัยภาษาศาสตร์แห่งรัฐนิซนี นอฟโกรัด ซึ่งขนานนามตาม เอ็น เอ โดโบรลิวบอฟ (NGLU) ต่างก็มีประสบการณ์อันยาวนานในการสอนภาษาไทย ระบบรัฐและเศรษฐกิจของประเทศไทย ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย

ยังคงมีความสนใจอย่างจริงจังในการศึกษาภาษารัสเซียในประเทศไทย ทุกวันนี้มีการสอนภาษารัสเซียในมหาวิทยาลัยหลักๆ สามแห่งของไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

โครงการภาษารัสเซียที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ทรงเกียรติแห่งหนึ่งในประเทศไทย เริ่มต้นในปี 2547 ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม 2552 ได้มีการเปิดศูนย์รัสเซียศึกษาที่นั่นโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งศูนย์ฯ มีโครงการที่มุ่งไปที่รัสเซีย นอกจากวิชาหลักคือภาษารัสเซียแล้ว นิสิตยังได้ศึกษาอีก 10 วิชา (วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมรัสเซีย ฯลฯ) นอกจากนี้ นิสิตของมหาวิทยาลัยยังศึกษาภาษารัสเซียเป็นวิชาเลือก ซึ่งแต่ละปีมีผู้ศึกษากว่า 100 คน

ในเดือนมิถุนายน 2553 ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนคุณ ประธานสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางเยือนรัสเซียและลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโคว์ซึ่งขนานนามตาม เอ็ม วี โลโมโนซอฟ (MGU) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมหาวิทยาลัย MGIMO

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มหาวิทยาลัยได้สร้างศูนย์รัสเซียภายใต้มูลนิธิ “รุสกี มีร์” โดยศูนย์ฯ เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับรัสเซียที่ออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลและสื่อการสอน ทั้งแบบตีพิมพ์และแบบเชิงโต้ตอบสำหรับนักศึกษาไทยด้านภาษารัสเซีย วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชีวิตสมัยใหม่ของรัสเซีย

นับตั้งแต่ปี 2518 ฝ่ายภาษารัสเซียที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อบรมผู้เชี่ยวชาญด้านภาษารัสเซียและประเทศรัสเซียในระดับปริญญาตรี วิชาภาษารัสเซียเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยและสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาภาษารัสเซีย นักศึกษากว่าร้อยละ 50 ที่หาทางศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียในกรอบของการให้ทุนการศึกษาประจำปีของรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี 2546 มหาวิทยาลัยได้เปิดศูนย์รัสเซียศึกษา ซึ่งครอบคลุมโครงการการเรียนภาษารัสเซียเป็นภาษาหลัก เช่นเดียวกับวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมรัสเซีย และได้มีการเปิด “ศูนย์ทดสอบภาษารัสเซียในฐานะภาษาต่างประเทศ” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยตามมาตรฐานฝ่ายภาษารัสเซียที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ด้านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัสเซียหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก MGU มหาวิทยาลัย MGIMO และมหาวิทยาลัยอูราลแห่งสหพันธ์

ในปี 2559 ได้มีการเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทยที่ NGLU โดยศูนย์กำหนดให้ภาษาไทยเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาของ NGLU เช่นเดียวกับการจัดประชุม การสัมมนาระดับผู้เชี่ยวชาญ และการเสวนาโต๊ะกลมตามหัวข้อ

มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังได้สอนภาษารัสเซียเป็นภาษาหลักในระดับปริญญาตรีรวมถึงเป็นวิชาเลือกด้วย มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีข้อตกลงกับ MGU และ DVFU ในการแลกเปลี่ยนคณาจารย์

ในปี 2559 ได้มีการเปิดศูนย์ที่โรงเรียนกมลาศัย จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ในปี 2560 โรงเรียนนานาชาติเบิร์กเลย์ที่กรุงเทพฯ เปิดหลักสูตรภาษารัสเซียสำหรับนักเรียนที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โรงเรียนนานาชาติเบิร์กเลย์ที่กรุงเทพฯ ได้จัดงานมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยสมาคมมหาวิทยาลัยยุโรปตะวันออกที่ครอบคลุมสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัสเซียกว่า 20 แห่งก็เข้าร่วมงานด้วย บรรดานักเรียนให้ความสนใจเป็นพิเศษกับโครงการปริญญาตรีสาขาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศของเราเสนอ ซึ่งที่โดดเด่นก็มี มหาวิทยาลัย RUDN มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์วิจัยแห่งชาติรัสเซียปิโรกอฟ สถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์แห่งรัฐคีรอฟ มหาวิทยาลัยเวอร์นาดสกี ไครเมียนแห่งสหพันธ์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเชเชน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐไรยาซาน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ทางกุมารเวชศาสตร์แห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งรัฐคาซาน นักเรียนไทยยังได้แสวงหาหนทางที่จะศึกษาที่สถาบันการบินมอสโคว์ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์พลีคานอฟรัสเซียน มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคโทมส์ก

ระหว่างการเสด็จเยือนรัสเซียของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในเดือนตุลาคม 2559 คณะนักเรียนไทยที่มีพรสวรรค์ได้โดยเสด็จด้วย ขณะที่ประทับที่กรุงมอสโคว์ พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรงานของศูนย์นวัตกรรมสโกลโกโว โรงเรียนโกลโมโกรอฟซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ – ศูนย์ (คณะ) วิทยาศาสตร์ทางการศึกษาระดับสูงของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโคว์ โรงเรียนจอมพลวาสิลี ชูอิคอฟ ส่วนที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คณะผู้แทนไทยได้เยือน “คณะฟิสิกส์และวิทยาการ” ไลเซียมแห่งสถาบันการศึกษาวิจัยแห่งชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มหาวิทยาลัยแห่งสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียและตัวมหาวิทยาลัยเอง สถาบันพฤกษศาสตร์วลาดิเมียร์ โคมารอฟแห่งสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์รัสเซียและสวนวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 บรรดานักเรียนจากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียได้ไปทัศนศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแบบสหสาขาวิชาที่ตั้งขึ้นโดยบริษัท “ซีพีออล” นักเรียนได้เยี่ยมชมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ฟังคำอธิบายโดยย่อจากผู้จัดการโครงการระหว่างประเทศ และเยี่ยมชมห้องเรียนพิเศษที่มีเครื่องมือสำหรับการฝึกบินพลเรือนเป็นส่วนตัว

นอกจากนี้ เด็กๆ รัสเซียยังได้ชมวิดิทัศน์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มซีพีและบริษัทในเครือ รวมทั้งเกี่ยวกับแนวคิดของ “เซเวนอิเลเวน” ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายปลีกที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่น สถาบันปัญญาภิวัฒน์แสดงความสนใจต่อความร่วมมือกับหุ้นส่วนชาวรัสเซียในโรงเรียนระดับกลางสายอาชีพและมหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างเช่นการจัดการธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การบินพลเรือน การท่องเที่ยว และธุรกิจการบริการ

เมื่อวันที่ 2-5 เมษายน 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นเจ้าภาพงานสัปดาห์ภาษารัสเซีย ซึ่งจัดโดยคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์

เมื่อวันที่ 18-19 2561 สถาบันวิทยาศาสตร์และวิทยาการวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมโต๊ะกลมไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 1 ว่าด้วยการศึกษาและการวิจัยที่มีพรสวรรค์ที่วิทยาเขตของตนในจังหวัดระยอง ผู้เข้าร่วมโต๊ะกลมประกอบด้วยผู้จัดการและนักวิจัยชั้นนำจากสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยเทคโลโลยีจิตรลดา ฯลฯ เช่นเดียวกับคณะผู้แทนรัสเซียซึ่งประกอบด้วยเหล่าศาสตราจารย์จากสถาบันวิทยาศาสตร์และวิทยาการสโกลโกโว (สโกลเทค) ศูนย์สิริอุส สถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์รัสเซีย มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโคว์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ฯลฯ ความคิดในการจัดการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการศึกษาและการวิจัยที่มีพรสวรรค์เป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในระหว่างการประชุมโต๊ะกลมนั้น บรรดาผู้เข้าร่วมไม่เพียงแต่แลกเปลี่ยนมุมมองและนำเสนอหัวข้อเรื่องอันเป็นประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจหลายฉบับด้วย