สถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย
(+66 2) 234-98-24
(+66 2) 268-11-69
/

ประวัติความสัมพันธ์ทวิภาคี

ครั้งแรกที่รัสเซียและสยามติดต่อกันนั้นต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2406 คราวที่เรือรัสเซียสองลำคือ “ไกยดามาก” กับ “โนวิก” เทียบท่าที่แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือกรุงเทพฯ ในปี 2419-2420 นาย เอ็น มิคลูโค-มักเลย์ ได้เยือนประเทศไทยในระหว่างที่ทำการเดินเรือไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สยามถือว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรที่สามารถให้ความช่วยเหลือสยามในการดิ้นรนเพื่อรักษาอธิปไตยให้รอดพ้นจากการขยายอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ในปี 2425 กองทัพเรือรัสเซียภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรี เอ บี อาสลามเบคอฟ ได้เดินทางมาถึงสยามเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีราชวงศ์จักรี ในปี 2431 นายพี ชูรอฟสกี นักดนตรีชาวรัสเซียได้ประพันธ์เพลงชาติสยาม ซึ่งได้ถูกใช้มาจนถึงปี 2475 และภายหลังกลายเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทย มกุฎราชกุมารนิโคลัสแห่งรัสเซียเสด็จเยือนกรุงเทพฯ ในปี 2434 และในปีเดียวกันสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็เสด็จไปยังลิวาเดีย (ไครเมีย) ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการรับรองโดย สมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ ที่ 3 แห่งรัสเซีย ในปี 2439 สมเด็จเจ้าฟ้าจิระแห่งสยามทรงเป็นพระราชอาคันตุกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัส ที่ 2

ในระหว่างการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อวันที่ 2-10 กรกฎาคม 2440 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและสยามก็ได้รับการสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2440 นายอเล็กซานเดอร์ โอลารอฟสกี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปทูตและกงสุลใหญ่รัสเซียประจำสยาม เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2441 ได้มีการเปิดสถานกงสุลใหญ่รัสเซียที่กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาได้รับการยกระดับเป็นสถานทูตและเปิดทำการจนกระทั่งปี 2460

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2442 ที่กรุงเทพฯ ได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมรัสเซีย-สยามว่าด้วยเขตอำนาจศาล การค้า และการเดินเรือ ด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกันและการพัฒนาการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม องครักษ์สยามจึงสวมเครื่องแบบองครักษ์รัสเซียจนถึงทศวรรษ 1970 องค์ประกอบบางอย่างของเครื่องแบบนั้นยังอาจเห็นได้ในอาภรณ์ของพวกเขาทุกวันนี้

เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 สมาชิกราชวงศ์ไทยและข้าราชการไทยจำนวนมากเดินทางไปรัสเซีย ชนชั้นสูงของไทยที่ยังหนุ่มได้รับการศึกษาจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโคว์ พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ก็ประทับอยู่ที่รัสเซียหลายปี โดยทรงศึกษาที่สถาบันการศึกษากองพลหน้าและกิจการทั่วไป และทรงงานในกองทัพรัสเซีย ในปี 2449 พระองค์อภิเษกสมรสกับนางสาวเยคาเทรีนา เดสนิตสกายา ซึ่งเป็นพลเมืองรัสเซีย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีหยุดไปชั่วคราวหลังจากปี 2460 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพโซเวียตและประเทศไทยได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2484 ในปี 2490 ทั้งสองฝ่ายลงนามในความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางการทูต และหนึ่งปีหลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียก็เริ่มปฏิบัติงานในเมืองหลวงของไทย ในช่วงสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองพัฒนาไปอย่างคลุมเครือ กระทั่งช่วงปลายยุค 70 ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันหรือความก้าวหน้าใดๆ ที่เป็นรูปธรรม

แรงผลักดันใหม่ในการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีคือการที่นายเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี 2522 โดยในช่วงการเยือนนั้นได้มีการตั้งสมาคมมิตรภาพโซเวียต-ไทย ขึ้น

ตั้งแต่กลางยุค 80 ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางบวกในเวทีระหว่างประเทศนั้น ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างสำคัญ ในปี 2530 ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤษภาคม 2531 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางเยือนมอสโคว์อย่างเป็นทางการ ในเดือนกุมภาพันธ์  2533 นายนิโคไล ริซชคอฟ นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียตรัสเซียได้เดินทางเยือนกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2534 รัฐบาลไทยให้การรับรองสหพันธรัฐรัสเซียว่าเป็นรัฐเอกราชและยังได้ย้ำอีกครั้งถึงความตั้งใจจะพัฒนาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรและเป็นประโยชน์ร่วมกัน

ในเดือนตุลาคม 2546 ฯพณฯ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยในนามของรัสเซีย

ในเดือนกรกฎาคม 2550 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถแห่งประเทศไทยเสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแห่งประเทศไทย

ฯพณฯ นายทักษิณ ชินวัตร รัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเดินทางเยือนรัสเซียในปี 2545 และ 2549 และน้องสาวของท่านคือ ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยได้พบปะนอกรอบกับ ฯพณฯ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียในสัปดาห์ผู้นำเอเปกที่เมืองวลาดิวอสต็อก (รัสเซีย) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2555

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ได้มีการพบปะกันนอกรอบระหว่าง  ฯพณฯ นายดมิตรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียกับ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กรุงเนปิดอว์ (เมียนมาร์) เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน 2558 ฯพณฯ นายดมิตรี เมดเวเดฟได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศพบปะกันนอกรอบที่กรุงมนิลาในการประชุมสุดยอดเอเปก

ในเดือนพฤษภาคม 2559 ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการและพบปะกับ ฯพณฯ นายวลาดิเมียร์ ปูติน และ ฯพณฯ นายดมิตรี เมดเวเดฟ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้พบปะนอกรอบกับ ฯพณฯ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ในการประชุมสุดยอดบริกส์ (BRICS) ที่เมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ฯพณฯ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ได้สนทนานอกรอบกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ที่ประเทศสิงคโปร์